เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
[1634] “ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้า
พร้อมเพรียงกับภรรยา
ข้าพเจ้าจะทำกิจให้แก่ท่าน จะให้รัตนะคือแก้วมณีนี้แก่ท่าน
และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุในวันนี้เลยทีเดียว”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[1635] “กัจจานะ ขอท่านจงมีไมตรี
อย่าได้แตกแยกกับภรรยาผู้น่ารักของท่านตลอดไปเถิด
ขอท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบานมีปีติโสมนัส
ท่านได้ให้แก้วมณีแล้ว
ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังกรุงอินทปัตถ์ด้วยเถิด
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[1636] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ ซึ่งมีปัญญาไม่ต่ำทราม
ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตนแล้ว
นำไปยังกรุงอินทปัตถ์
[1637] ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปสู่กรุงอินทปัตถ์
ได้เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์1เสียอีก
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[1638] “โน่น กรุงอินทปัตถ์ปรากฏอยู่
และป่ามะม่วงที่น่ารื่นรมย์ก็เห็นเป็นหย่อม ๆ
ข้าพเจ้าพร้อมกับภรรยาและท่านก็ได้ถึงที่พักอาศัยของตน”

เชิงอรรถ :
1 เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์ หมายถึงธรรมดาใจไปหาอะไรไม่ได้ เป็นแต่ว่ารับอารมณ์ได้ไกล
ท่านจึงเรียกว่า ใจไป อธิบายว่า การเดินทางของม้าสินธพมโนมัย(ของปุณณกยักษ์)นั้น เร็วยิ่งกว่าใจ
รับอารมณ์ (ขุ.ชา.อ. 10/1367/280)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :443 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1639] ปุณณกยักษ์ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องนั้น
ได้ยกวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐที่สุดของชาวแคว้นกุรุ
ลงไว้ในท่ามกลางธรรมสภาแล้ว
ก็ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[1640] พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้นแล้ว
ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง
เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้ง 2
ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ
ท่ามกลางธรรมสภาตรงพระพักตร์ ตรัสว่า
[1641] “ท่านเป็นผู้แนะนำพวกเรา
เหมือนนายสารถีบังคับรถหุ้มเกราะ
ชาวแคว้นกุรุทั้งหลายยินดีเพราะได้เห็นท่าน
เราได้ถามท่านแล้ว ขอจงบอกเนื้อความนั้น
ท่านพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1642] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ซึ่งแกล้วกล้าและประเสริฐกว่าคน
ผู้ที่พระองค์เรียกว่ามาณพนั้นมิใช่มนุษย์
เขาเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ
พระองค์ก็ทรงเคยได้ทราบชื่อมาแล้ว
ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวร
[1643] พญานาคทรงพระนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ
มีพระกายใหญ่ สะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง
ปุณณกยักษ์รักปรารถนานางนาคกัญญาชื่ออิรันทดี
ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :444 }